ประวัติความเป็นมา

“ดนตรี” ในบ้านสมเด็จเจ้าพระยาเริ่มมีขึ้นตั้งแต่มีสถานะเป็นโรงเรียนฝึกหัดครู จากบทความของอาจารย์สงัด ภูเขาทอง ได้กล่าวถึงไว้ว่า “…ในทางวิชาการมีวิชาเรียนทฤษฎีดนตรีสากลในชั้น ป.ป.ปี 1 มีอาจารย์สอนอยู่คนเดียวคืออาจารย์เจริญ แสงรัตนกุล บ้านของท่านอยู่แถวหลังวัดบุปผาราม อาจารย์เจริญจัดเป็น “ครูแตร” คนสำคัญคนหนึ่งพอเข้าสอนในชั่วโมงแรกก็สอน ตัวกลม ตัวขาว ตัวดำ แล้วให้เคาะจังหวะ ตก-ยก พร้อมกับให้ท่องศัพท์ ลีดดิ้งโน้ต มีเดียน โตนิค ทางด้านดนตรีไทยที่เป็นรูปวงอยู่บ้างคือ วงของอาจารย์สรร อินทุเวส หรือที่เรียกว่า ขุนสรร ซึ่งสภาพทั้งทางดนตรีไทย และดนตรีสากลสมัยที่ผม (อาจารย์สงัด) ยังเรียนอยู่ยังไม่เป็นสัดส่วน คงเป็นเพราะไม่มีวิชาดนตรีเพื่อการศึกษาโดยเฉพาะประการหนึ่ง และทางโรงเรียนขาดการเห็นความสำคัญของดนตรีอีกประการหนึ่ง วิชาดนตรีสมัยนั้นถ้าเป็นดนตรีสากลก็คือ การอ่านโน้ต ดนตรีคือการขับร้อง และเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ กรมตำรวจได้มอบวงดุริยางค์ให้วงหนึ่ง เป็นวงเครื่องเป่าขนาดใหญ่ มีอาจารย์เจริญเป็นผู้ควบคุมดูแล เมื่ออาจารย์เจริญปลดเกษียณอาจารย์บุตร วุฒิมานพ ได้ทำหน้าที่แทน ต่อมาราวปีพ.ศ.๒๕๐๘ อาจารย์บุญส่ง เฉลิมวัฒน์ ได้เป็นผู้ควบคุมฝ่ายดนตรีสากล และได้เริ่มตั้งวงแบนด์ชื่อวงชงโค ขึ้นซึ่งเป็นวงดนตรีที่เล่นเพลงสุนทราภรณ์จนมีชื่อเสียงที่นิยมในขณะนั้น…”

          ในส่วนของการศึกษาทางด้านดนตรีไทย ได้เริ่มมีการรวมเป็นวงดนตรีขึ้นเมื่อ พ.ศ.2506 โดยเครื่องดนตรีส่วนใหญ่จะเป็นของส่วนตัวของอาจารย์สงัดที่มาจากบ้าน และได้มีการปรับปรุงให้รุดหน้ายิ่งขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนจากทางวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยาการจัดการเรียนการสอนดนตรีในหลักสูตรการศึกษาที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยานั้น เริ่มต้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2513 เมื่อครั้งมีสถานะเป็นวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ปลัดกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น เล็งเห็นว่า ในหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาพุทธศักราช 2503 ระบุไว้ว่า ให้มีการจัดการเรียนการสอนวิชาดนตรีในหลักสูตรประถมศึกษาด้วย จึงจำเป็นต้องผลิตครูผู้สอนดนตรีไปปฏิบัติหน้าที่ตามโรงเรียนต่างๆ ประกอบกับท่านต้องการให้มีการศึกษาค้นคว้าทางดนตรีในระดับอุดมศึกษาอย่างจริงจัง ท่านจึงมอบหมายให้อาจารย์อวบ เหมะรัชตะ ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรี ของการฝึกหัดครู เดินทางไปศึกษาดูงานการผลิตครูดนตรี ณ ประเทศออสเตรเลีย และประเทศญี่ปุ่น โดยมีอาจารย์วาสิษฐ์ จรัณยานนท์ เป็นผู้ร่วมพิจารณาหลักสูตรวิชาดนตรี ในกรรมการฝึกหัดครู เมื่อคณะกรรมการร่างหลักสูตรเสร็จให้อาจารย์ ดร.กำธร สนิทวงวงศ์ ณ อยุธยาซึ่งเป็นผู้เชียวชาญด้านดนตรีอีกท่านหนึ่ง เป็นผู้ตรวจสอบก่อนที่จะเสนอให้กรมการฝึกหัดครูพิจารณาอนุมัติหลักสูตร ซึ่งในครั้งแรกท่านอธิบดีกรมการฝึกหัดครูได้มอบหมายให้วิทยาลัยครูสวนสุนันทา เป็นผู้ดำเนินการจัดการเรียนการสอน แต่อาจารย์จรูญ มิลินทร์ มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยาในขณะนั้น ได้เสนอต่อกรมการฝึกหัดครูขอให้เปิดหลักสูตรดนตรีที่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เนื่องจากมีเครื่องดนตรีอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก และยังมอบอาคารเรียนให้สำหรับจัดการเรียนการสอน อีก 1 หลัง ดังนั้นเมื่อกรมการฝึกหัดครูอนุมัติหลักสูตรประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.ชั้นสูง) วิชาเอกดนตรี จึงได้ดำเนินทำการสอนที่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และนับเป็นหลักสูตรดนตรีในระดับอุดมศึกษาหลักสูตรแรกของประเทศไทย ถือเป็นก้าวแรกของการผลิตครูดนตรีในประเทศไทย

          เมื่อกระทรวงศึกษาธิการได้มีการปรับปรุงหลักสูตรมัธยมศึกษา ในปี พ.ศ. 2520 การผลิตครูดนตรีจึงเริ่มขยายตัวมากขึ้นจากการผลิตครูดนตรีในระดับประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูง ได้ขยายให้มีการเปิดสอนจนถึงระดับปริญญาตรี ตามพระราชบัญญัติการฝึกหัดครู ซึ่งวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยาได้พัฒนาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.2 ปี หลังอนุปริญญา) วิชาเอกดนตรี เมื่อปี พ.ศ.2521 โดยหลักสูตรดังกล่าวใช้เวลาศึกษา 2 ปีการศึกษา และได้พัฒนาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.4 ปี) วิชาเอกดนตรีขึ้นในปี พ.ศ.2524 จึงทำให้การเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงสิ้นสุดลงตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา และในขณะเดียวกันวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยาได้จัดทำหลักสูตร อนุปริญญาศิลปศาสตร์ สาขาเทคนิคการอาชีพดนตรีสากลขึ้น ในปี พ.ศ.2527 เพื่อผลิตนักดนตรีอาชีพรองรับความต้องการของสังคมที่เพิ่มมากขึ้น แต่ได้เปิดรับนักศึกษาเพียงรุ่นเดียวเนื่องจากความไม่พร้อมในปัจจัยด้านต่าง ๆ นอกจากการรับนักศึกษาภาคปกติแล้วในสถาบันแห่งนี้ยังมีการเปิดภาคนอกเวลา โดยจัดการเรียนการสอนดนตรีให้กับบุคลากรประจำการที่ทำงานประจำอยู่แล้ว และต้องการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น การศึกษาภาคพิเศษ ภาคนอกเวลานี้เรียกว่า โครงการอบรมครูประจำการ ซึ่งเปิดสอนวิชาเอกดนตรี ในปี พ.ศ.2523 และปี พ.ศ.2524

          ในปี พ.ศ.2535 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “สถาบันราชภัฏ” ให้เป็นชื่อสถาบันการศึกษาในสังกัดกรมการฝึกหัดครูกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้นวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จึงได้เปลี่ยนเป็นสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา การบริหารงานภายในจึงมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหน่วยงานเดิมที่เป็นภาควิชาถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นโปรแกรมวิชา ซึ่งภาควิชาดนตรีก็ได้เกิดการปรับเปลี่ยนขึ้นเช่นกันโดยมีการจำแนกการบริหารงานออกเป็น ๒ โปรแกรมวิชา คือ โปรแกรมวิชาดนตรีสากล และโปรแกรมวิชาดนตรีไทย ดังนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 การจัดการเรียนการสอนดนตรี และการบริหารงานจึงถูกแบ่งไปตามลักษณะของวิชาเอก

          ในปี พ.ศ.2547 เมื่อได้มีการตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ จึงได้มีการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ตลอดระยะเวลาที่จัดการเรียนการสอนดนตรี ตั้งแต่ครั้งเป็นวิทยาลัยครูจนมาเป็นสถาบันราชภัฏ และยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ ได้มีการดำเนินงานการผลิตครูดนตรี และบุคลากรทางดนตรีอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยอยู่ภายใต้การดูแลของภาควิชาดนตรี (ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนเป็นโปรแกรมวิชาดนตรี และสาขาวิชาดนตรี ตามลำดับ) สังกัดคณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาได้เป็นทรัพยากรในการผลิตนักเรียนดนตรีป้อนกลับสู่สถาบันแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาได้รับความนิยมจากผู้สนใจเข้าศึกษาต่อเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากสถานที่ และอุปกรณ์มีจำกัดจึงไม่สามารถรองรับได้ทั้งหมด การคัดเลือกนักศึกษาเข้าศึกษาต่อจึงต้องใช้ระบบการทดสอบเข้าศึกษาตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ กระทั่งนโยบายการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้มีการปรับเปลี่ยนเปลี่ยนตามบริบทของสังคม ประกอบกับนโยบายการผลิตครูของกระทรวงศึกษาธิการมีการปรับเปลี่ยนไปนั้น ได้ส่งผลให้การผลิตครูต้องไปอยู่ในความดูแลของคณะครุศาสตร์ การศึกษาดนตรีภายใต้การดูแลของคณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์จึงต้องปรับเปลี่ยนเป็นการผลิตศิลปินทางดนตรีแทน โดยได้พัฒนาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาดนตรีขึ้น และเปิดรับนักศึกษาในปี พ.ศ. 2547 การรับนักศึกษาจากเดิมที่ใช้ระบบคัดเลือก ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นรับนักศึกษาแบบไม่จำกัดจำนวน ตามนโยบายของผู้บริหารมหาวิทยาลัยในการให้โอกาสทางการศึกษา ทำให้เป็นที่นิยมของนักศึกษามาสมัครเรียนเป็นจำนวนมาก และมีเพิ่มมากขึ้น นอกจากจะผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาตรีแล้ว ในปีการศึกษา 2550 สถาบันแห่งนี้ยังได้เปิดสอนในระดับปริญญาโท หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาดนตรี โดยแบ่งออกเป็น 2 แขนงคือ แขนงดนตรีศึกษา และแขนงการบริหารงานดนตรี

          เมื่อนักศึกษาให้ความสนใจเข้าศึกษามีจำนวนเพิ่มขึ้น การจัดการเรียนการสอนจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการบริหารจัดการตามจำนวนผู้เรียน และเมื่อมีการปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต ในปี พ.ศ. 2549 ซึ่งเปิดใช้ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา ๒๕๕๐ สาขาวิชาดนตรีสากลได้แบ่งการเรียนออกเป็น 8 กลุ่มวิชา ได้แก่ ประพันธ์เพลง ดนตรีคลาสสิค ดนตรีโยธวาทิต ดนตรีแจ๊ส เทคโนโลยีดนตรี ดนตรีสมัยนิยม ดนตรีวิทยา และการสอนดนตรี และสาขาวิชาดนตรีไทยเพื่อการอาชีพ

          กระทั่งเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 มติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาได้อนุมัติให้มีการจัดตั้งวิทยาลัยการดนตรีขึ้น เพื่อการบริหารจัดการในศาสตร์วิชาด้านดนตรีอย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่มีสถานภาพเทียบเท่าคณะแห่งแรกในมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยเป็นการบริหารจัดการด้านการบริหาร และการจัดการเรียนการสอนโดยบุคลากรจากสาขาวิชาดนตรีไทยเพื่อการอาชีพ และสาขาวิชาดนตรีตะวันตก จากนั้นในปี พ.ศ.2559 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนพันธกิจด้านดนตรีของวิทยาลัยการดนตรีให้มีความเข้มแข็ง และครบถ้วนในทุกมิติ โดยการประสานความร่วมมือ และผนึกองค์ความรู้ด้านการศึกษาจากสาขาวิชาดนตรีศึกษา ภายใต้สังกัดคณะครุศาสตร์ ร่วมเป็นหนึ่งในกำลังที่สำคัญในการขับเคลื่อนพันธกิจด้านการจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปะ และวัฒนธรรม ภายใต้ความเชี่ยวชาญ และทุนทางสังคมวัฒนธรรมที่อุดมอยู่ในวิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

วิทยาลัยการดนตรี

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา 1061 ซอยอิสรภาพ 15 แขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600

College of Music

BSRU